วิชชาจรณสัมปันโน (2)
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
โภชเนมัตตัญญุตา
- โภชเนมัตตัญญุตา ความรู้ประมาณในภัตตาหาร ท่านสอนให้พิจารณาอาหารที่บริโภค ในขณะที่กำลังบริโภค ตามบทปฏิสังขาโยที่พระสวดกันอยู่ซึ่งมีความโดยย่อว่า บริโภคภัตตาหารก็มิใช่ว่าเพื่อเล่น มิใช่ว่าเพื่อมัวเมา มิใช่ว่าเพื่อเปล่งปลั่งประเทืองผิว แต่ว่าบริโภคภัตตาหารก็เพื่อที่จะบำบัดความหิวระหาย และป้องกันมิให้เกิดเวทนาที่เป็นทุกข์ และเพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ เพื่อดำรงกายให้เป็นไป
- นี้เป็นใจความโดยย่อ ซึ่งรวมความเข้าแล้วก็เป็นการพิจารณาว่า บริโภคเพื่อที่จะทะนุบำรุงร่างกาย เพราะร่างกายนี้ต้องอาศัยอาหารจึงดำรงอยู่ได้ และดำรงร่างกายอยู่ก็เพื่อว่าที่จะประพฤติพรหมจรรย์ คือ ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า มิใช่เพื่อตัณหากิเลสต่าง ๆ และเมื่อพิจารณาดั่งนี้ก็จะทำให้ไม่เกิดหรือไม่ส่งเสริม ลดรสตัณหา ตัณหาในรส บริโภคเพื่อให้สำเร็จประโยชน์ที่ต้องการ คือ เพื่อดำรงร่างกายดำรงชีวิตให้เป็นไปอยู่ เป็นไปอยู่ทำไม ก็เพื่อที่จะประพฤติพรหมจรรย์ กระทำกิจตามพระธรรมวินัย ประกอบกิจที่เป็นประโยชน์
- เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็จะทำให้การบริโภคนั้น เป็นไปพอเหมาะพอควร ไม่น้อยไม่มากเกินไป เท่าที่ร่างกายต้องการ ไม่ถือเอารสอร่อยเป็นที่ตั้ง คือ ไม่ตามใจลิ้น และเมื่อพิจารณาดั่งนี้ แม้ว่าอาหารที่บริโภคจะมีรสไม่ถูกปากไม่ถูกลิ้น ก็จะสามารถบริโภคได้
- เพราะเมื่อไม่ติดอยู่ในรส ไม่ติดอยู่ในรสะตัณหาแล้ว การบริโภคก็เป็นไปเพื่อให้สำเร็จประโยชน์ตามที่ต้องการ ไม่ใช่ว่าจะต้องเที่ยวแสวงหาอาหารที่มีรสตามที่ชอบ ถ้าไม่ได้ก็ไม่ยอมที่จะบริโภค หรือบริโภคแต่น้อย ถ้าได้อาหารที่มีรสถูกปากที่เอร็ดอร่อยก็บริโภคเสียใหญ่ และไม่เป็นเวล่ำเวลาอันสมควร ดั่งนี้เรียกว่าไม่รู้ประมาณในภัตตาหาร แต่เมื่อรู้ประมาณในภัตตาหาร ด้วยการพิจารณาดังกล่าว ก็จะทำให้การบริโภคอาหารเป็นไปโดยถูกต้อง พอเหมาะพอควร เพื่อทะนุบำรุงกายให้ดำรงอยู่ เพื่อประพฤติพรหมจรรย์
ชาคริยานุโยค
- ชาคริยานุโยค ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ ที่ท่านแสดงอธิบายไว้ก็คือว่าในเวลากลางวัน ก็นั่งบ้าง เดินบ้าง ที่เรียกว่า เดินจงกรม ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ ผ่องแผ้วจากกิเลสที่เป็นเครื่องกั้นใจทั้งหลาย คือ เป็นเครื่องกั้นไว้มิให้บรรลุสมาธิและปัญญา ในเวลากลางคืนในปฐมยาม ก็นั่งบ้าง เดินบ้าง เปลื้องจิตให้บริสุทธิ์ ให้พ้นจากกิเลสเป็นเครื่องกั้นทั้งหลาย ในมัชฌิมยามของราตรี ก็พักด้วยการนอนโดยสีหไสยาคือนอนตะแคงเบื้องขวา และทำสติที่จะลุกขึ้น ที่จะตื่นขึ้น และก็ตื่นขึ้นในปัจจฉิมยามของราตรี ก็นั่งบ้างเดินบ้าง ชำระจิตให้บริสุทธิ์ ให้พ้นจากกิเลสซึ่งเป็นเครื่องกั้นจิตทั้งหลาย
- นี้ท่านแสดงถึงวิธีปฏิบัติเป็นเครื่องตื่นอยู่อย่างเต็มที่ แม้ว่าจะไม่ปฏิบัติอย่างเต็มที่ดั่งนี้ เอาเพียงปฏิบัติตามที่ท่านแปลคำนี้ไว้ว่า ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ ไม่เห็นแก่นอนมากนัก และเวลาที่ตื่นอยู่ก็ต้องคอยทำการเปลื้องจิต ปฏิบัติเปลื้องจิตจากกิเลสเป็นเครื่องกั้น มิให้จิตได้สมาธิได้ปัญญา โดยตรงก็คือ นิวรณ์ทั้ง 5 นั้นเอง
- คอยชำระจิตอยู่เสมอจาก นิวรณ์ทั้ง 5 คือ กามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกาม พยาบาทความหงุดหงิดขึ้งเคียดโกรธแค้นขัดเคืองมุ่งร้ายหมายล้างผลาญ ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และ วิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัยต่าง ๆ ปฏิบัติดั่งนี้เรียกว่าเป็นชาคริยานุโยค ก็รวมเป็น 4 ข้อ