ระวัง! เครียดลงกระเพาะ
- อาการเตือนที่ส่อสัญญาณว่า "กำลังเครียด" นั่นคือ เบื่ออาหาร กินไม่ได้ หรือกินมากเกินไป มึนงง หงุดหงิดรำคาญใจ อยากอยู่คนเดียว หนักหนาสาหัสอาจถึงขั้นนอนไม่หลับ สุขภาพทรุดโทรม และกลายเป็นโรคประสาทไปได้ในที่สุด เพราะเวลาเครียด ฮอร์โมนในร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไป หัวใจจะเต้นแรง เร็ว แต่ไม่เป็นจังหวะ เส้นเลือดบีบตัว ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ส่วนกระเพาะอาหารก็จะหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าที่ควรจะเป็น ลำไส้บีบตัวอย่างรุนแรง ทำให้ส่งผลกระทบถึงระบบทางเดินอาหารด้วย
- ความเครียด ยังส่งผลกระทบถึงระบบทางเดินอาหารที่เรียกกันว่า “เครียดลงกระเพาะ” อาการของโรคเครียดลงกระเพาะ ของแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป ดังนี้ จะมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดท้องบ่อย ๆ หิวก็ปวด อิ่มก็ปวด จุกเสียดแน่นท้อง และเกิดแผลในกระเพาะอาหารในที่สุด
- สาเหตุก็เป็นเพราะความเครียดจะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีนจากต่อมหมวกไตมากกว่าปกติ ทำให้ร่างกายตื่นตัวตลอดเวลา และทำให้กรดในกระเพาะหลั่งมากขึ้นกว่าเดิมจนเป็นอาการ ดังที่กล่าวมา บางคนอาจถ่ายอุจจาระมากกว่าวันละ 3 ครั้ง หรือถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ต้องเบ่งถ่าย หรือกลั้นไม่อยู่ หรือรู้สึกว่าถ่ายไม่สุด หรือมีอาการปวดบริเวณลิ้นปี่ มีอาการท้องอืด หรือรู้สึกว่ามีลมในกระเพาะมาก คลื่นไส้อาเจียนหลังอาหาร ถึงแม้ว่าอาการดังกล่าวจะไม่ได้ส่งผลให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่อาการเครียดลงกระเพาะก็ส่งผลให้ ประสิทธิภาพในการทำงานหรือของคนเราลดลงเป็นอย่างมาก
อาการสำคัญของโรค
- รู้สึกปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ มักปวดเวลาท้องว่าง และอาการปวดเหล่านี้จะลดลงหรือหายไป เมื่อเรารับประทานอาหาร
- มีอาการปวดหลัง หลังจากรับประทานอาหารไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง จะมีอาการปวดหลังช่วงเวลาดังกล่าว เป็นเวลาที่กระเพาะอาหารของเราเริ่มย่อยอาหาร
- รู้สึกแน่นท้อง ท้องเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว อาจเกิดจากการรีบกินอาหาร การกลืนอาหารเร็วเกินไป รวมไปถึงการดื่มน้ำมากขณะกินอาหาร ซึ่งส่งผลให้กระบวนการย่อยอาหารในกระเพาะแปรปรวน
- รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน จุกเสียดหน้าอก มักจะเกิดจากอาหารที่รับประทานเข้าไปไม่ย่อย
- หากมีอาการปวดท้องรุนแรง ชนิดที่ว่าหายใจแรงก็ปวด ถ่ายท้อง อาเจียนหรืออุจาระออกมาเป็นเลือด และมีสีดำตลอดเวลา ให้รู้ไว้เลยว่า อาการอยู่ในขั้นอันตราย ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาเป็นการด่วน หากช้าเกินไป อาจเกิดอาการกระเพาะอาหารทะลุ หรือเลือดออกทางเดินอาหารได้
- ส่วนวิธีปฏิบัติตัวสำหรับคนที่มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ หรือเป็นแผลในกระเพาะอาหารอันเกิดจากความเครียด คือ รับประทานอาหารไม่ให้อิ่มจนเกินไป ควรเลือกอาหารที่ย่อยง่าย รสไม่จัด และรับประทานอาหารให้เป็นเวลา ทานอาหารครบสามมื้อ อาจมีรัหว่างมื้อ ทานน้อย ย่อยง่าย แต่บ่อยครั้ง
วิธีการรักษาโรคเครียดลงกระเพาะ
วิธีการรักษาโรคนี้จะต้องแก้ที่ต้นเหตุ ด้วยการคลายความเครียดด้วยวิธีการ ดังนี้
1. เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน
- ถ้าความเครียดของเราเกิดจากเกิดจากการหมกมุ่นอยู่กับเหตุการณ์ในอดีต หรือมัวแต่คิดถึงเหตุการณ์ในอนาคตที่ยังมาไม่ถึงแล้วล่ะก็ การหมั่นดึงจิตใจให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ยอมรับความจริง และคิดหาทางแก้ปัญหาอย่างรอบคอบ และมีสติ จะช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี
2. หัดระบายความรู้สึกออกมาบ้าง
- การได้เล่าความเครียดให้คนอื่นฟัง หรือ จดลงในบันทึกส่วนตัวเป็นอีกวิธีง่าย ๆ ที่จะเอาความเครียดออกไปจากตัวของเรา
3. การออกกำลังกาย
- เพราะทุกครั้งที่ออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสารเอนโดฟิน ออกมาทำให้เรารู้สึก สบายใจ ลดความวิตกกังวลลง
4. ปรับเปลี่ยนเวลา
- ลองตื่นแต่เช้า แล้วลงไปเดินเล่นสวนสาธารณะ สูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอด เป็นการเพิ่มพลังให้กับตัวเอง จะทำให้เราพร้อมที่จะแก้ทุกปัญหาที่จะเข้ามา โดยที่ไม่มีความเครียดมารบกวนได้
5. หัดปล่อยวาง
- ถ้าเจอปัญหาที่หาทางออกไม่ได้จริง ๆ วิธีที่ดีที่สุดคือ วางมันลงไว้ก่อน แล้วถอยหลังออกมาตั้งหลัก สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ ผ่อนคลาย เมื่อเราพร้อมค่อยกลับมาดูอีกครั้ง บางทีในครั้งหลังอาจจะพบทางออกก็ได้ อย่าปล่อยให้ความเครียดอยู่กับเรานานเกินไป
ขอบคุณ
หมอแอน
(แพทย์แผนไทย ธิติมา อุ้ยคำ บว., บภ.)