เต้านมใหญ่เกินไป ก็เป็นปัญหา
- คนส่วนใหญ่มักจะรู้สึกว่า การมีอะไร ๆ ใหญ่ ๆ โต ๆ ไว้ก่อนก็จะดีกว่า เช่น รถคันใหญ่ บ้านหลังใหญ่ กินข้าวจานใหญ่ ฯลฯ แม้แต่สรีระ ในผู้ชาย หากร่างกายบึกบึนก็ดูดี เต้านมก็เช่นกัน ส่วนใหญ่เรามักจะรู้สึกกันแต่ว่า ปัญหาของท่านสุภาพสตรี คือ มีเต้านมขนาดเล็ก จนได้ยินเรื่องการเสริมเต้านมกันบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเสริมเต้านม หรือ การเสริมด้วยเสื้อชั้นในชนิดพิเศษ แต่ก็ยังมีปัญหาของสุภาพสตรีอีกกลุ่มหนึ่ง ที่คนหลายคนอาจไม่เคยทราบ คือปัญหา เต้านมใหญ่เกินไป (breast hypertrophy)
มีข้อเสียอะไรหากมีเต้านมใหญ่เกินไป
- ข้อเสียที่สุภาพสตรีกลุ่มนี้มักจะประสบในเบื้องต้น คือ หาเสื้อชั้นในใส่ไม่ได้ เพราะขนาดที่มีขายอยู่ในท้องตลาดมักจะมีขนาดเล็กเกินไป แต่ก็ยังไม่ใช่ข้อเสียที่สำคัญ ที่สำคัญกว่านั้น คือเรื่องของน้ำหนักเต้านม เต้านมขนาดใหญ่ อาจหนักถึงมากกว่า 1 กิโลกรัมต่อข้าง นั่นหมายความว่า เจ้าของเต้านม จะต้องแบกน้ำหนักถึงมากกว่า 2 กิโลกรัม ที่บริเวณด้านหน้าลำตัว ไปไหนมาไหนด้วยตลอดเวลา สิ่งที่ตามมาก็คือ ทำให้ปวดหลัง ปวดไหล่ จะลุก จะนั่ง จะนอน จะเดิน ก็ไม่คล่องตัว
- นอกจากปัญหาเรื่องการปวดไหล่ และ น้ำหนักมากของเต้านมแล้ว ยังอาจพบปัญหาอื่น ๆ ได้ เช่น ผิวหนังบริเวณหน้าอกถูกยืด จนแตกลาย หรือมีการอับชื้นตรงบริเวณซอกระหว่างหน้าอกสองข้าง และ ใต้ราวนม เกิดการอักเสบเป็นเชื้อราได้บ่อย
- ภาวะเต้านมใหญ่เกินนี้ พบได้ทั้งในวัยสาว และ วัยกลางคน ในวัยสาว ๆ หากพบเต้านมใหญ่มาก ๆ บางคนรู้สึกอาย ทำให้ต้องคอยห่อไหล่ เพื่อปกปิดเต้านมที่ใหญ่เกิน ทำให้ขาดความมั่นใจในตนเองได้
เมื่อไรจะบอกว่าเต้านมใหญ่เกินไปแล้ว
- ขนาดของเสื้อชั้นในมักจะบอกได้ เพราะ cup D และ E แสดงให้เห็นว่าขนาดเส้นรอบอก กับเส้นรอบหัวนมที่วัดได้ไม่สมดุลย์กัน อาการปวดไหล่ ก็เป็นอีกอาการหนึ่งที่บ่งว่าเต้านมใหญ่เกินไป
ทำอย่างไรได้หากเต้านมใหญ่เกินไป
- ปัจจุบัน ศัลยแพทย์สามารถทำการผ่าตัดลดขนาดของเต้านมโดยวัดและตัดเนื้อเต้านมออก เหลือเนื้อเต้านมไว้ให้มีขนาดใกล้เคียงกับคนทั่วไป โดยมีแผลผ่าตัดซ่อนอยู่รอบหัวนมและใต้ราวนม การผ่าตัดนี้ จะต้องทำโดยการวางยาสลบ การผ่าตัดนี้ เมื่อผ่าตัดแล้ว หากต้องให้นมบุตร ก็ยังกระทำได้ครับ
มีข้อเสียหรือไม่ในการผ่าตัดลดขนาดเต้านม
- ผลเสียที่อาจพบได้ ก็คือ ผลเสียจากการวางยาสลบ และการผ่าตัดเช่นเดียวกับการผ่าตัดทั่วไป และ อาจเกิดแผลเป็นที่บริเวณรอยแผลผ่าตัดได้ครับ
รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล